01 กรกฎาคม 2552

เปิดเทอมใหม่ หนูเครียด!! พ่อแม่จะช่วยได้อย่างไร

แม้จะเปิดเทอม ใหม่มาแล้ว 2-3 สัปดาห์ ภาพที่ยังพบเห็นบ่อยก็คือ เด็กร้องไห้ กอดขาผู้ปกครอง งอแง ไม่อยากไปโรงเรียน มีหลายครอบครัวพบว่าเด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว ไม่ทำการบ้าน ไม่กินข้าว ซึมเศร้า

อาการเหล่านี้ พญ. เพียงทิพย์ หังสพฤกษ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์ ระบุว่า อาจเป็นเพราะเด็กเครียด ซึ่งในช่วงเปิดเทอมเป็นช่วงที่เด็กจะต้องปรับตัว เด็กที่ปรับตัวไม่ได้จะมีความเครียด เนื่องจากเกิดความกังวลในหลายๆ เรื่อง เช่น เด็กเล็ก จะกังวลเรื่องการปรับตัว ห่างพ่อแม่ กลัวการเข้าห้องน้ำเอง กลัวกินอาหารใหม่ๆ กลัวเพื่อนแปลกหน้า หรือกลัวถูกครูดุ จนมีอาการซึมเศร้าได้

พญ.เพียงทิพย์ กล่าวว่า เด็กและวัยรุ่นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเรื่องการพัฒนาความสามารถในการปรับตัว ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งซึ่งพ่อแม่ และครู จะต้องช่วยกันดูแลเอาใจใส่ เพื่อไม่ให้เด็กเกิดความเครียดมากจนเกินไป เพราะจะมีผลกระทบต่อสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่นได้ เนื่องจากความเครียดเหล่านี้อาจจะพัฒนากลายเป็นโรควิตกกังวลหรือซึมเศร้า หรือในบางรายอาจคิดฆ่าตัวตาย อย่างที่เคยปรากฏเป็นข่าวตามสื่อต่างๆ มาแล้วได้

ทั้งนี้ บทบาทสำคัญของพ่อแม่ที่จะช่วยลดความเครียดให้กับลูกได้ อาจเริ่มจาก

1. ต้องมีเวลาให้กับลูกบ้าง โดยการทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น ทานข้าวร่วมกัน ออกกำลังกาย ตีแบดมินตัน เทนนิส ว่ายน้ำ ทำงานศิลปะ หรือกิจกรรมสร้างสรรค์อื่นๆ เพื่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่ลูก เมื่อลูกมีเรื่องไม่สบายใจก็จะสามารถเล่าให้พ่อแม่ฟังได้
2. พยายามพูดให้ความหวังกับลูกเสมอ และ ควรพูดคุยให้กำลังใจหรือชมลูกบ่อยๆ เมื่อเห็นลูกมีการปรับตัวที่ดีขึ้น ไม่ใช่เอาแต่ถามว่าปรับตัวได้หรือยัง พึงระลึกไว้ว่า การที่สอนให้ลูกมองโลกในแง่ดี มีข้อเสียน้อยกว่าสอนให้ลูกมองโลกในแง่ร้าย
3. พ่อแม่จะต้องไม่เร่งลูกเฉพาะด้านวิชาการมากจนเกินไป ควรให้เวลากับลูกในการเรียนรู้ปรับตัวด้านสังคมด้วย ซึ่งพบว่าพ่อแม่ส่วนใหญ่มักจะมองข้ามและเร่งลูกให้เรียนหนังสือกวดวิชาเพิ่ม ซึ่งหลังเลิกเรียนแทนที่เด็กจะได้มีเวลาเล่นกับเพื่อน เด็กต้องไปเรียนพิเศษอีก ทำให้ไม่มีโอกาสได้เล่นกีฬา เดินตลาด กินขนม พูดคุยกับคนรอบข้าง “ทำให้เด็กขาดทักษะการเข้าสังคม” เข้ากับเพื่อนไม่ได้ และไม่รู้ว่าการเข้ากับเพื่อนต้องทำอย่างไรบ้าง
4. พ่อแม่ต้องเรียนรู้ถึงวิธีการสื่อสารหรือวิธีการสอนลูกที่ถูกต้อง ซึ่งแม้ว่าคำแนะนำของพ่อแม่จะเป็นเรื่องถูกต้อง แต่ด้วยวิธีของพ่อแม่และวัยของลูกก็ทำให้ลูกไม่สามารถเข้าใจ หรือทำตามที่ผู้ใหญ่บอกได้ ซึ่งทางที่ดีคือ ผู้ใหญ่ควรที่จะแสดงวิธีการต่างๆ ด้วยตนเองให้ลูกได้เห็น ถ้าไม่มีโอกาสก็อาจจะใช้ในลักษณะของการแสดงบทบาทสมมติ เช่น ถ้า ลูกวัยอนุบาลมีปัญหากลัวการเข้าห้องน้ำ เพราะเด็กที่เคยชินกับการนั่งส้วมแบบมีชักโครกที่บ้าน พอเจอห้องน้ำแบบนั่งยองๆ ที่โรงเรียน ก็อาจจะนั่งไม่เป็นกลัวตก จนไม่อยากไปโรงเรียน ซึ่งพ่อแม่ก็ต้องสาธิตให้เด็กดูว่าจะนั่งได้ปลอดภัยอย่างไร

“การสอนที่เป็นรูปธรรม โดยพ่อแม่ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง เหมาะกับเด็กขี้กังวลมากเพราะจะทำให้เด็กมีความสบายใจขึ้นและรู้วิธีที่จะ จัดการจริงๆ เช่น ถ้าลูกวัยเรียนถูกเพื่อนล้อ อันดับแรกควรถามลูกว่าเพื่อนล้ออะไร จากนั้นควรถามว่าลูกได้ทำอย่างไรไปเมื่อถูกเพื่อนล้อวันนี้ เพื่อที่จะได้รู้ว่าลูกเลือกวิธีแก้ปัญหาอย่างไร แต่อย่าเพิ่งตำหนิลูก แล้วหลังจากนั้นพ่อแม่ควรแสดงเป็นตัวอย่างให้ลูกดูว่าหากถูกเพื่อนล้อถ้า เป็นพ่อหรือแม่จะทำอย่างไร โดยพ่อแม่จะต้องแสดงคำพูด สีหน้า แววตา ลักษณะท่าทางที่ดูแข็งขัน กำหมัด ยืดอก อะไรทำนองนี้ ให้เสมือนเป็นเหตุการณ์จริง แล้วจึงค่อยคุยกับลูกว่าคิดว่าเป็นอย่างไรบ้าง ชอบแบบที่พ่อแม่ทำไหม เพราะอะไร ถ้าลูกชอบ อยากทำได้ แล้วค่อยฝึกให้ลูกทำตาม ทำให้ลูกกล้าที่จะมาคุยเวลามีปัญหา เพราะรู้สึกว่าพ่อแม่คอยให้ความช่วยเหลือที่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่บ่นว่า แล้วทำให้ยิ่งเครียด” พญ.เพียงทิพย์ กล่าว

ด้านบทบาทของครู จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น บอกว่ามีส่วนสำคัญมากเช่นเดียวกัน ซึ่งถ้าหากทั้งผู้ปกครอง และครู ได้มีการสื่อสารกันแล้ว ครูเป็นผู้ให้คำปรึกษาต่อทั้งเด็กและผู้ปกครอง ก็จะทำให้สามารถจัดการช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาได้อย่างดี

“การจัดปฐมนิเทศเด็กและผู้ปกครองทั้งกลุ่มและแบบเป็นรายบุคคลเป็น สิ่งที่ดี เพื่อชี้ให้ผู้ปกครองเห็นว่า ปัญหาเด็กปรับตัวไม่ได้ กลัวครู ควรที่จะแก้ไขอย่างไร ผู้ปกครองก็จะมีความเข้าใจ และครูเองก็ควรจะพูดเปิดทางให้เด็กทราบว่าเด็กสามารถมาปรึกษาปัญหากับครูได้ โดยครูจะว่างเวลาไหนบ้าง ให้เด็กมาปรึกษาเพราะว่าเด็กบางครั้งก็ไม่รู้ว่าจะเข้าไปหาครูตอนไหน กลัวครูดุ เพราะอาจจะเคยเข้าไปหาตอนที่ครูไม่ว่างแล้วถูกดุ จึงไม่กล้าเข้าไปหาอีก ดังนั้นการที่ทั้งสามฝ่ายมีการสื่อสารกัน มุ่งช่วยให้เด็กมีความสุข จะทำให้สามารถรู้ถึงปัญหาที่แท้จริง และนำไปสู่การแก้ไขได้

“หมอ มักจะแนะนำพ่อแม่ที่ลูกมีปัญหากับเพื่อนให้ปรึกษาครูด้วย เพราะครูจะรู้นิสัยของเด็กคู่กรณีดีกว่าหมอและพ่อแม่ ทั้งนี้หมอเน้นว่าพ่อแม่ ไม่ควรเห็นครูเป็นที่ฟ้องเพื่อให้ไปลงโทษเด็กอีกคนหนึ่ง ควรสอนให้ลูกเห็นครูเป็นที่ปรึกษาหรือเป็นที่พึ่งมากกว่า ไม่ใช่มองว่าครูเป็นที่ฟ้อง เป็นตำรวจหรือผู้พิพากษา เพราะเด็กอาจกลายเป็นเด็กขี้ฟ้องไปเลยก็ได้ ซึ่งไม่ใช่การพึ่งตนเอง ความนับถือตนเองก็ไม่เกิดและทั้งครูและเพื่อนก็ไม่ชอบด้วย”

นอกจากนี้ในช่วงเปิดเทอมสิ่งที่ครูจะช่วยได้อีกประการหนึ่งก็คือ การให้เวลาเด็กในการปรับตัว โดยมุ่งเน้นให้เด็กได้ทำกิจกรรมสานสัมพันธ์แทนการให้การบ้านมาก จนเด็กไม่มีเวลาในการปรับตัว

“ความเครียดของเด็กถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องช่วย อย่าปล่อยปละละเลย หากพบว่าเด็กมีอาการซึมเศร้า ผิดปกติ ควรจะรีบหาทางแก้ไขหรือปรึกษาจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาโดยเร็วที่สุด”

รพ.มนารมย์
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

โดยคนน่ารัก